ปากซอยน่ะ พวกเราขอเลือกวิธีที่จะไปเองได้ไหม? : บทวิพากษ์ถึงวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ด้วยความปราถนาดี

หลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุลผ่านมติชนออนไลน์ในวันที่ 12 กันยายน 25531 ผมใช้เวลาตัดสินใจนานพอสมควรที่จะเขียนอะไรบางอย่างเพื่อแสดงความคิดเห็นตอบโต้ประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยกับวรรณสิงห์หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็เพราะมีบางท่านได้แสดงความคิดเห็นไปบ้างแล้ว2 อีกส่วนหนึ่งเพราะวรรณสิงห์แสดงออกอย่างค่อนข้างชัดว่าไม่ต้องการรับคำวิพากษ์วิจารณ์เท่าใดนัก ทำให้ผมไม่แน่ว่าสิ่งที่ผมเขียนจะมีประโยชน์ต่อตัวรรณสิงห์หรือไม่ (ในกรณีที่เขายังโตไม่พอที่จะรับความคิดเห็นจากขั้วตรงข้ามแบบตรงไปตรงมา) แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะผมพบว่าวรรณสิงห์ไม่ได้ออกมาชี้แจงประเด็นที่มีผู้ติงถึงความบกพร่องในตรรกะทางความคิดของเขา ไม่แม้แต่จะแสดงออกว่ารับรู้ถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อพิจาณาถึงความอันตรายทางปัญญาที่จะมีต่อผู้ที่สมาทานแนวคิดของเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเยาวชนที่มีจิตใจหวังดีต่อประเทศชาติ การปล่อยให้ความหลงผิดทางปัญญาของเขาดำเนินต่อไปโดยที่เขาและแฟนคลับไม่รู้ตัว อาจจะนำมาซึ่งความง่อยเปลี้ยทางปัญญาของบางส่วนสังคมได้ ผมจึงคิดว่าต้องแสดงความคิดเห็นบางอย่างเพื่อโต้แย้งวรรณสิงห์ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความงอกงามทางปัญญา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัววรรณสิงห์, แฟนคลับของเขา รวมถึงตัวผมเองไม่มากก็น้อย

****

บทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในช่วงหลังของวรรณสิงห์เริ่มเด่นชัดขึ้นเมื่อเขาได้รับโอกาสให้เข้าสัมภาษณ์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทย3 ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยและการปรองดองหลังเกิดเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม(ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 91 รายภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ผู้ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองใดๆต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น) นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ทราบว่าวรรณสิงห์ได้เข้าไปสังฆกรรมกับรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี, โดยส่วนตัวผมรู้จักวรรณสิงห์ผ่านทางสื่อต่างๆหลายปีแล้วในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดความอ่าน และมีความตั้งใจดีที่จะช่วยแก้ปัญหาทางสังคม แม้งานเขียนที่แสดงความเห็นในประเด็นสาธารณะของเขาจะไม่ถูกจริตของผมนัก แต่ผมก็ชื่นชมเขาอยู่ห่างๆในความตั้งใจดีรวมถึงการลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ดังนั้นเมื่อผมพบวาเขาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ เบี่ยงประเด็นฝังกลบความจริงทำให้ลืมที่มีชื่อเก๋ๆของรัฐบาลว่า ปรองดองปฏิรูปประเทศไทยโดยส่วนตัวผมรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เพราะการที่เขาเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวที่ตั้งขึ้นโดยผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อโศกนาฏกรรมที่ราชประสงค์ นัยหนึ่งคือเขาได้ยอมรับรวมถึงได้ให้ความชอบธรรมกับกระบวนการดังกล่าว ซึ่งผมถือว่ามันเป็นการขาด decency พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีอารยะ

วรรณสิงห์ได้มองข้ามความตายของ คนไทยที่กำลังร้องหาผู้รับผิดชอบและความเป็นธรรม นอกจากจะมองข้ามความจริงดังกล่าวอย่างไม่ใยดีแล้ว(ผมพยามหาข้อเขียนหรือความเห็นของเขาที่แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และเรียกร้องให้มีผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่พบ นอกจากข้อเขียนสั้นๆประเภท แม้ไฟจะลุกไหม้ บ้านจะพัง ตึกจะถล่ม คนหลายๆคนจะเสียชีวิต แต่เรายังอยู่ที่นี่และคำพูดสวยหรูที่เสนอทางออกอย่างนามธรรมบางอัน) เขากลับเดินข้ามซากศพเหล่านั้นแล้วกระโดดเข้ามาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวที่เข้ามาร่วมหาทางออกแก้ปัญหาขอความสุขคืนกลับมาอย่างเท่ๆ เก๋ไก๋ ถึงจะผิดหวังต่อท่าทีของเขา แต่ด้วยความที่ผมเชื่อมั่นในความปรารถนาดีของเขา(อย่างที่พี่ที่เคารพของผมท่านหนึ่งยืนยัน) ผมจึงบอกตัวเองว่าจะรอดูแนวทางของเขาต่อไปอีกสักพักก่อนที่จะตัดสินเขา

*****

ต่อมาเขาได้โพสบทความที่เป็นข้อเสนอในการแก้ปัญหาทางสังคม ปากซอยน่ะ เดินไปเองเถอะครับ: คำตอบในเบื้องต้น4 พร้อมกับโฆษณาโครงการไอเดียประเทศไทยที่เขาดูแลอยู่ ในบทความนั้นวรรณสิงห์พยามเสนอว่า ไม่ว่าการปกครองในระบบใดๆก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนทุกกุล่มได้ ดังนั้นแทนที่เราจะหวังพึ่งพาตัวแทนในการจัดสรรทรัพยากร(เขาเปรียบกับคนที่ทำหน้าที่ไปซื้อกับข้าว) เราควรจะหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเองและช่วยกันบอกต่อถึงวิธีการเหล่านั้น แล้วในที่สุดตัวแทนก็จะค่อยๆลดความสำคัญลงไป ในบทความที่มีการใช้ analogy ที่คลุมเครือและผิดฝาผิดตัวนี้ วรรณสิงห์ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในระบบการจัดสรรทรัพยากร, โครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ผู้เขียนตีความว่าวรรณสิงห์เอนเอียงไปทางสำนักวัฒนธรรมชุมชน ที่ต้องการให้ประชาชนพึ่งตัวเองอย่ามัวแต่รอความช่วยเหลือจากรัฐ โดยที่วรรณสิงห์ลืม(หรือแกล้งไม่รู้)ถึงความอยุติธรรมของโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กดคนจำนวนมากไว้ไม่ให้ลืมตาอ้าปากได้ด้วยตนเอง มิพักจะต้องพูดถึงข้อมูลหรือตัวเลขที่แสดงความเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะก้าวเข้ามาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยความพยายามของตนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น การกระจายของถือครองที่ดิน, โครงสร้างภาษี, การผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ที่อิงอยู่กับอำนาจของชนชั้นนำบางกลุ่ม ฯลฯ

การที่ไม่เข้าใจถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ทำให้วรรณสิงห์คิดแบบเด็กๆว่า ถ้าทุกคนมีสติปัญญามีความพยายามก็จะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเองได้ โดยไม่ต้องสนใจว่าระบบการปกครองจะเป็นอย่างไรหรือรัฐบาลจะเป็นใคร เมื่อนั้นความขัดแย้งรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้น ดูเหมือนซึ่งสิ่งที่เขาเสนอในครั้งนั้นไม่ได้มีอะไรมากกว่าการบอกให้ไม่ต้องสนใจปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น(ที่มีคนตายถึง 91 คน) เพียงแต่ถ้าเรามีความตั้งใจดีๆ มีไอเดียเก๋ๆ ก็ลุกขึ้นมาทำเลย ไปออกค่ายปลูกป่า ถางหญ้า สายลมแสงแดด เราก็สามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้

สิ่งที่ผมแปลกใจต่อข้อเขียนนี้ของวรรณสิงห์ก็คือ มีวัยรุ่นจำนวนหนึ่งชื่นชมในข้อเสนอของเขา บางคนบอกว่าลึกซึ้งมาก บางคนเสนอว่าเขาควรจะเป็นนายกเสียเอง(เข้าใจว่าผู้แสดงความเห็นไม่ได้ประชด) ส่วนใหญ่เห็นว่าข้อเสนอของวรรณสิงห์เป็นสิ่งที่ทรงภูมิและเป็นทางออกอย่างแท้จริง นอกจากความแปลกใจที่พวกเขาเหล่านั้นอ่านบทความของวรรณสิงห์รู้เรื่องได้อย่างไรทั้งๆที่การเปรียบเทียบต่างๆมั่วซั่วขนาดนั้น ผมยังแปลกใจในความหัวอ่อนของวัยรุ่นไทยที่พร้อมจะเชื่ออะไรที่ ดูเหมือนจะดีอย่างที่วรรณสิงห์เสนอ ….นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเห็นความอันตรายในฐานะบุคคลสาธารณะผู้เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ของเขา

****

มาถึงบทสัมภาษณ์ที่ทำให้ผมต้องลุกมาเขียนบทความชิ้นนี้ ….ในบทสัมภาษณ์ ” “สิงห์ลูกเสกวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ขีดเส้นปฏิรูปทำแค่ในส่วนที่เข้าใจซึ่งบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นจุดชี้ขาดว่าผมไม่ได้เข้าใจผิดในทัศนคติของเขาแม้แต่น้อย เขายังยืนยันแนวคิด ปากซอยน่ะ เดินไปเองเถอะครับของเขายังหนักแน่น ต่อคำถามที่ถามถึงทางแก้ไขปัญหาสังคมเขาตอบว่า

การสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ ในการที่ทุกคนในสังคมจะแก้ปัญหากันเอง โดยที่เราไม่ต้องไปออกความเห็นให้ใครฟัง บอกมาอยากทำอะไรก็ทำเลย แล้วก็มีคนช่วยสร้างพื้นที่ให้ทำด้วย อย่างน้อยพวกเราก็ได้สร้างพื้นที่ (ไอเดียประเทศไทย) ให้คนที่อยากทำอะไรด้วยตัวเองได้ทำเลย โดยไม่จำเป็นต้องออกความเห็นว่า รัฐบาลต้องทำแบบนี้ หรือรัฐมนตรีกระทรวงนี้ต้องเป็นคนนี้ หรืออะไรก็ตาม เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าไม่ก้าวผ่านตรงนี้ เราก็จะไม่สามารถไปต่อข้างหน้าได้

รัฐบาลที่ดี ทุกคนก็อยากมีกัน แต่ว่าเรารอรัฐบาลที่ดีมากี่ปีแล้ว ตอนนี้ก็ 78 ปีแล้ว ก็อาจจะมีรัฐบาลที่โดนด่าน้อย กับโดนด่ามาก ก็ว่ากันไป แต่รัฐบาลที่ดีสุดๆ ก็ยังไม่มี คำว่า “ดี” คือ ประเด็นหลักๆ ของการโต้เถียงกันทางการเมือง หลายๆ คนก็บอกว่าศีลธรรมคืออันนี้ ขณะที่อีกคนก็บอกว่าศีลธรรมคืออีกแบบ บางคนบอกว่าคนนี้คือฮีโร่ ขณะที่อีกคนก็อาจจะบอกว่าคนๆ นี้คือจอมมาร สลับกันไป (ตอบแบบเหนื่อยๆ) เราอยากก้าวผ่านความดีให้ได้ เพราะความดีเป็นเรื่องส่วนตัว

วรรณสิงห์ยืนยันโลกทัศน์ที่ว่า การเมืองเป็นมายา ชีวิตเป็นของจริงมายาคติที่ครอบงำผู้ที่ผ่านการศึกษาในระบบอย่างฝังรากลึก ในโลกทัศน์แบบนี้จะมองการเมืองเรื่องเป็นไกลตัว มีแต่การทุจริตคอรัปชั่นมาทุกยุคทุกสมัย เราไม่เคยได้อะไรจากการเมืองเลย ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีผลกับประชาชน อย่ากระนั้นเลยวรรณสิงห์เรียกร้องให้เราลุกขึ้นมาเปลี่ยนประเทศไทยด้วยตัวเอง อย่าหวังไปพึ่งพารัฐบาลหรือนักการเมือง ถ้าไม่ก้าวผ่านตรงนี้ เราก็จะไม่สามารถไปต่อข้างหน้าได้นี่เป็นอีกครั้งที่วรรณสิงห์บอกให้พวกเรามองข้ามความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหลาย(ที่เพิ่งมีการฆ่ากันจนมีคนตายถึง 91 คน) เพื่อ เดินต่อไปข้างหน้าด้วยตัวเองวรรณสิงห์เองคงจะไม่ทราบว่าทัศนคติแบบนี้มันน่ารังเกียจและอันตรายต่อการพัฒนาประชาธิปไตยขนาดไหน การที่บอกว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่มีผลต่อชีวิตประจำวันนั้น มันเป็นทัศนคติแบบที่ด้อยพัฒนาที่สุด อีกครั้งที่ผมจะต้องบอกว่าวรรณสิงห์ไม่เข้าใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเลย

ในระบบประชาธิปไตยที่มาของอำนาจ นโยบาย การต่อรองแบ่งปันทรัพยากร ล้วนมาจากประชาชนที่แสดงเจตน์จำนงค์ของตัวเองผ่านผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง การที่บอกว่าไม่ให้ไปใส่ใจการเมืองก็เหมือนบอกให้เราละทิ้งอำนาจการต่อรองที่มี แล้วรอว่าผู้ปกครอง ที่แสนดีและมีคุณธรรมมาจัดการบอกให้ว่าเราควรจะได้อะไร ควรจะมีชีวิตแบบไหน แน่ละ กับคนที่มีต้นทุนทางสังคมพอสมควรอย่างวรรณะสิงห์และชนชั้นกลางในเมืองนโยบายของรัฐจะเป็นอย่างไรเขาก็ไม่เดือดร้อน เขามีต้นทุนพอที่จะแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ได้ เพียงใช้ความพยายามในระดับหนึ่งก็สามารถมีชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี แต่วรรณสิงห์จะอธิบายอย่างไรกับชาวบ้านที่ยังต้องพึ่งพิงนโยบายของรัฐในการประกอบอาชีพ กับเกษตรกรที่ ราคาปุ๋ย ราคาผลผลิต การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ฯลฯ ล้วนขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ จะบอกให้พวกเขาเหล่านั้นใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ขุดคลองส่งน้ำเอง ส่งพืชผลไปขายต่างประเทศโดยไม่ต้องง้อพ่อค้าคนกลางอย่างนั้นหรือ การมองโลกแบบนี้มีแต่คนที่ซาบซึ้งกับชีวิตพอเพียงปราชญ์ชาวบ้านแบบในนิยายซีไรต์บางเรื่องเท่านั้นแหละ ที่เห็นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศจะทำแบบนั้นได้,  “ไม่ต้องสนใจการเมืองหรอก เรามาทำกันด้วยตัวเองดีกว่า” …ผมไม่ขำด้วยนะครับ

ยิ่งไปกว่านั้นในบทสัมภาษณ์ วรรณสิงห์ย้ำอย่างน้อยสามครั้งถึงทัศนคติที่เขามีต่อการวิพากษ์วิจารณ์ เขาพยามเสนอว่ายุคนี้เป็นยุคที่มีความเห็น มากจนไร้ราคาแต่ไม่ค่อยมีคนลุกขึ้นมาทำอะไร เขายังกล่าวอีกว่า เรื่องการปฏิรูปฯเยาวชนไทยอาจจะไม่ต้องทีส่วนร่วมก็ได้ แต่คุณต้องไม่วิจารณ์ทั้งวันโดยที่ไม่ทำรวมถึง ไม่ใช่ว่าหยุดวิจารณ์แล้วจะเป็นคนไม่ฉลาดนะจริงๆคนส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้วิจาณ์อะไรมากมาย ลองมองดูว่าเราเป็นคนส่วนน้อยหรือเปล่าซึ่งผมคิดว่าเขากำลังจะบอกผ่านไปถึงคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรวมถึงคณะกรรมการปรองดองปฏิรูปทั้งหลายว่า ถ้าคุณไม่คิดจะช่วยทำอะไรเพื่อประเทศ คุณก็อย่าพูดมาก อย่าเอาเท้าราน้ำ สิ่งที่ควรทำก็คือให้ลองทบทวนตัวเองสิว่าจะช่วยอะไรได้บ้างต่างหาก

วรรณสิงห์คงลืมไปว่าก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากลุกขึ้นมา ทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นกันอย่างขนานใหญ่แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศนี้ แต่ความตั้งใจนั้นก็ถูกทำลายไปอย่างเลือดเย็น (ส่งผลให้มีคนตายถึง 91 คน) เอาเถอะ ผมจะไม่พูดว่าใครเป็นฝ่ายที่ฆ่าพวกเขาเหล่านั้น แต่ปฏิเสธได้หรือไม่ว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงก็คือรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ รัฐบาลที่ตั้งคณะกรรมการทั้งหลายแหล่ขึ้นมานี่ละ การที่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ยอมรับกระบวนการดังกล่าวและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อความชอบธรรมของรัฐบาล รวมถึงประนามคนที่เข้าไปร่วมกับคณะกรรมการทั้งหลายแหล่ที่ตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลนี้(ถ้าอยากทราบเหตุที่ควรประนามผู้ที่เข้าร่วมคณะกรรมการปฏิรูป อ่าน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล:วิพากษ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ กรณีรับเป็น“กรรมการปฏิรูปประเทศ” 5 ) เพื่อกดดันให้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตยรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคืนอำนาจการตัดสินทิศทางของประเทศให้เป็นของประชาชน วรรณสิห์เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำทำแล้วไม่เกิดประโยชน์อย่างนั้นหรือ?

ยังไม่ต้องพูดถึงหลักทั่วไปของคนที่ทำงานในประเด็นสาธารณะ การที่มีบทบาทในทางสาธารณะไม่ว่าใครก็ตามต้องได้รับทั้งเสียงชมและเสียงด่าอยู่แล้ว ถ้ารับตรงนี้ไม่ได้คนผู้นั้นก็ไม่สมควรที่จะเสนอตัวมาทำงานสาธารณะตั้งแต่แรก การที่วรรณสิงห์เสนอความคิดเห็นแบบนี้ในมุมของผม ผมถือว่าเป็นการเรียกร้องให้ประชาชนหุบปาก อย่าพูดอะไรกับการทำงานของรัฐบาลหรือคณะกรรมการทั้งหลาย ถ้าไม่คิดจะสนับสนุน ก็จงหุบปากไว้ แน่นอนว่าวรรณสิงห์อาจจะบอกไม่มีเจตนาแบบนั้นแต่ตัวบทที่เขาบอกผ่านบทสัมภาษณ์นั้น แปลเป็นอย่างอื่นได้ยากเต็มที

****

อันที่จริงยังมีอีกหลายประเด็นที่ผมเห็นไม่ตรงกับวรรณสิงห์ ทั้งเรื่องการเรียกร้องให้คนชนบทเข้าใจคนเมืองบ้าง(เหรอ?), เรื่องที่เขาพูดกับการกระทำของตัวเองในเรื่องการลืมความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น, ให้ก้าวข้ามที่มาของประชาธิปไตยแล้วมาดูกันที่เนื้อหาสาระ ฯลฯ  แต่ประเด็นหลักๆที่ผมได้เขียนไปข้างต้นก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เขาพิจารณาดูถึงสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อถึงเขาแล้ว หวังว่าคุณวรรณสิงห์จะสมารถแยก form (รูปแบบ) และ Content (สาระ) ของบทความนี้ออกจากกันเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อถึงด้วยความปรารถนาดีได้ (อย่างที่คุณย้ำถึงบ่อยๆ)

*****

สุดท้ายผมอยากจะฝากถึงวรรณสิงห์ว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ถ้าอยู่ในบริบทอื่นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ โครงการ ไอเดียประเทศไทยของเขาที่เขาบอกว่าเขาพยามจะสนใจประเด็นจุลภาค คือให้คนที่มีไอเดียที่จะช่วยพัฒนาประเทศมาร่วมกันคิดว่าจะช่วยพัฒนาสังคมได้อย่างไรแล้วทำเป็นโครงการที่ปฏิบัติได้จริง ผมมองว่ามันก็มีประโยชน์ เหมือนชมรมค่ายอาสา, การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ที่ช่วยสร้างความรู้สึกสบายใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกภูมิใจว่าได้ช่วยพัฒนาสังคม(แล้วนะ) แต่ในบริบททางการเมืองขณะนี้ ในขณะที่โครงสร้างทางอำนาจส่วนบนยังรวมศูนย์อย่างเข้มข้นที่สุด(ถ้าคุณมองไม่เห็น ลองอ่านหนังสือพิมพ์เรื่องการใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินดูบ้างก็ได้) ในขณะที่มาของอำนาจรัฐไม่ถูกตามหลักการประชาธิปไตย ในขณะที่ความตายของคนเกือบร้อยยังไม่ได้รับความเป็นธรรม การปฏิรูปใดๆ โครงการทางสังคมใดๆ ที่รัฐบาลชุดนี้จัดตั้งขึ้น ล้วนเป็นแค่ของเล่นที่รัฐโยนมาให้เล่นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองในขณะที่อีกฟากก็ตามทำลายศัตรูทางการเมือง สร้างฐานอำนาจของตัวเองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ผมอยากจะเรียนคุณวรรณสิงห์ว่าสิ่งที่คุณทำอยู่นอกจากจะไม่มีประโยชน์กับประเทศในบริบทแบบนี้เลยแล้ว คุณยังตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในกระบวนการ เบี่ยงประเด็นฝังกลบความจริงทำให้ลืมแม้คุณจะไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้แน่ว่าคุณมีบทบาทในการให้ความชอบธรรมกับขบวนการนี้อย่างออกนอกหน้า ผมอยากให้คุณวรรณสิงห์ลองพิจาณาบทบาทของตัวเองดูอีกสักครั้ง ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศจริงหรือไม่ และเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมพื้นฐานหรือเปล่า การมองข้ามซากศพ 91 ศพแล้วลอยหน้าลอยตาประดิษฐ์คำพูดเก๋ๆ โครงการเท่ๆ เพื่อ ก้าวไปข้างหน้าขอความสุขกลับคืนมาเป็นบทบาทของคนที่ถือตัวว่าปัญญาชนสาธาณะควรจะทำแน่หรือ  บอกตามตรงว่าผมยังหวังลึกๆว่าคุณจะเข้าใจว่าสิ่งที่คุณเสนอนั้น อันที่จริงมันก็เหมือนกับสิ่งที่คนเสื้อแดงพยามจะเรียกร้องนั่นแหละครับการต้องการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาด้วยตัวเอง

ปากซอยน่ะ พวกเราขอเลือกวิธีที่จะไปเองได้ไหม

Do you understand?

ด้วยความนับถือ

ธีรวัฒน์ นามสกุลเดียวกับพ่อแต่เป็นคนละคนกัน

อ้างอิง

1.http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1284290835&grpid=01&catid

2.คำ ผกา,มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 1570,หน้า 89-90

3.http://www.youtube.com/watch?v=I-vmmuS1sS4

4.http://www.facebook.com/?ref=home#!/note.php?note_id=149342055081678

5. http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30883

เกี่ยวกับ aofdense

ผมเป็นคนไม่ดีครับ :)
เรื่องนี้ถูกเขียนใน Uncategorized และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

4 ตอบกลับที่ ปากซอยน่ะ พวกเราขอเลือกวิธีที่จะไปเองได้ไหม? : บทวิพากษ์ถึงวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ด้วยความปราถนาดี

  1. Pingback: Tweets that mention ปากซอยน่ะ พวกเราขอเลือกวิธีที่จะไปเองได้ไหม? : บทวิพากษ์ถึงวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ด้

  2. akedemo พูดว่า:

    ชนชั้นกลวงประเภทวรรณสิงห์จับประเด็นแนวคิดมั่วมาตั้งแต่ต้นแล้ว เน่าตั้งแต่รากฐานการมองภาพนิยามของ “การเมือง” เลย

    คุณจะพูดได้อย่างไรว่า “ไม่ต้องสนใจการเมือง แล้วก็ให้ทุกคนหันมาทำอะไรๆ” ในเมื่อถ้ามองในนิยามการเมืองแบบกว้างๆ สิ่งที่คุณเสนอมามันก็เป็น “การเมือง” นั่นแหละ ตลกบัดซบ ตัวเองเสนอแนวคิดการเมืองแบบหนึ่งขึ้นมา แต่บิดเบือนว่าการเมืองไม่จำเป็น

  3. ผมไม่ได้มองว่ามุมมองของใครฉลาดหรือโง่ เปี่ยมไปด้วยสาระข้อเท็จจริงหรือกลวงสิ้นดี
    ประชาธิปไตยจะเจริญงอกงามได้เพราะความเคารพในความเห็นต่างครับ

    ขอบคุณที่นำเสนอในอีกมุมมองนึงครับ 🙂

ใส่ความเห็น